Accessibility Tools

ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
Phra Nakhon Si Ayutthaya Provincial Court

เกี่ยวกับหน่วยงาน
image

ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ประวัติความเป็นมา/ข้อมูลทั่วไปของหน่วยงานimage
image

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ประวัติความเป็นมา

                   ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นศาลหัวเมืองแห่งแรกที่สามารถตั้งและขึ้นสังกัดกระทรวงยุติธรรม  นับตั้งแต่มีการปฏิรูปการศาลโดยการตั้งกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ. 2434 เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้นการยุติธรรมของไทยยังไม่มีการจัดให้เป็นระบบ  กระจัดกระจายตามสังกัดต่าง ๆ ดังนั้นการปฏิรูปการศาลและกฎหมายนับเป็นเรื่องที่ทำได้ยากทีเดียว แต่ก็จำเป็นเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดระบบบริหารการกระจายอำนาจหน้าที่ และที่สำคัญคือเรื่องเอกสิทธิทางการศาลซึ่งจะทำให้ไทยมีฐานะทัดเทียมกับประเทศทางตะวันตก

                   ประวัติศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องอย่างมากกับการปฏิรูปศาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

                   สภาพศาลก่อนมีการปฏิรูปนั้น สับสน ไม่ได้มีการจัดเป็นระบบแต่ละกรมต่างมีอำนาจทั้งด้านบริหารและตุลาการ ทำการชำระคดีความที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่ตนเป็นผู้บริหาร  ศาลจึงต่างชำระความของตนเอง  ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้าน จึงทรงเห็นความจำเป็นในการรวบรวมศาลที่อยู่ในกรมกองต่าง ๆ ให้เป็นหมวดหมู่ สังกัดอยู่ในกระทรวงเดียวกัน โดยประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ร.ศ.110 ( พ.ศ. 2434 )  ต่อมาได้มีการขยายวิธีจัดราชการศาลในระบบใหม่ออกไปยังหัวเมือง ได้จัดตั้งศาลยุติธรรมขึ้นในหัวเมือง    โดยจัดตั้งศาลมณฑลกรุงเก่า ก่อนเป็นแห่งแรก  โดยมณฑลกรุงเก่ามีเมืองรับผิดชอบ 8 เมือง คือ  พระนครศรีอยุธยา  พรหมบุรี  ลพบุรี  สระบุรี  สิงห์บุรี  อินทร์บุรี  อ่างทอง  และอุทัยธานี

                   ศาลมณฑลกรุงเก่าอยู่ในบริเวณพระที่นั่งพิมานรัตยาพระราชวังจันทร์เกษม  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดในวันเดียวกับวันที่เสด็จเปิดทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือระยะทาง  กรุงเทพฯ – กรุงเก่า  ตรงกับวันที่ 26 มีนาคม  พ.ศ. 2440( ร.ศ.115 ) โดยประทับรถไฟเป็นปฐมฤกษ์จากสถานีกรุงเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินลงที่สถานีกรุงเก่า  เพื่อทรงกรุณาโปรดเกล้า ฯ เปิดที่ว่าการและศาลมณฑลกรุงเก่าด้วย ต่อมาใน พ.ศ. 2452 ( ร.ศ.127 ) ได้มีการก่อสร้างที่ทำการศาลมณฑลกรุงเก่าขึ้นบริเวณระหว่างพระราชวังจันทร์เกษม กับที่ว่าการหอทะเบียน ทำพิธีเปิดศาลในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2453

ลักษณะศาลเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ชั้นบนเป็นศาลแพ่งและศาลมณฑล ชั้นล่างเป็นศาลอาญา ดังนั้นการศาลในมณฑลกรุงเก่าจึงเป็นรูปร่างขึ้น  ทั้งทางด้านระบบงาน และการเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการผู้ปฏิบัติราชการ

                   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ไขระเบียบการปกครองใหม่ โดยรวมมณฑลเข้าเป็นภาค และจัดแบ่งส่วนราชการใหม่บ้าง ดังเช่น พ.ศ. 2458 ได้จัดส่วนปกครองมณฑลกรุงเทพฯใหม่ โอนเมืองประทุมธานีและธัญบุรี ซึ่งเคยปกครองแต่เดิม ไปสังกัดมณฑลกรุงเก่า กระทรวงยุติธรรมจึงให้ศาลเมืองประทุมธานีและธัญบุรี ซึ่งเคยปกครองแต่เดิม ไปสังกัดมณฑลกรุงเก่า กระทรวงยุติธรรมจึงให้ศาลเมืองประทุมและธัญบุรี ไปขึ้นกับศาลมณฑลกรุงเก่าด้วย มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเหมือนกับศาลเมืองทั้งหลายในมณฑลกรุงเก่า  แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจและขอบเขตทางการปกครองใหม่ การเรียกชื่อเมือง ในมณฑลยังคงสับสนอยู่  เรียกว่าเมืองบ้าง  จังหวัดบ้าง  จึงโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ดังนั้น ศาลเมืองต่าง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนมาเรียกชื่อว่าเป็น “ศาลจังหวัด” ตั้งแต่บัดนั้น

                   กระทรวงมหาดไทยมีความเห็นว่า การเรียกชื่อกรุงเก่าเรียกทั้งมณฑล และเมืองกรุงเก่าทั้ง 2 ชื่อ ทำให้สับสน จึงประกาศในเรียกเป็นนามเดียวกันว่า “มณฑลอยุธยา” และ “จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” กระทรวงยุติธรรมจึงประกาศให้ศาลยุติธรรมในหัวเมืองแก้นามจากศาลเมืองเป็นศาลจังหวัดด้วย และคงให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ. 127 ทุกประการ

                   ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2471 ได้ประกาศจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรมใหม่ กำหนดให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานมีหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายธุรการ ส่วนการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจอิสระของผู้พิพากษา

                   ในระยะเดียวกันนี้ ศาลมณฑลอยุธยาได้มีการปรับปรุงอีกครั้ง โดยทั่วไปมณฑลต่าง ๆ มีศาลมณฑลศาลเดียวตั้งอยู่ในจังหวัดอันเป็นที่ตั้งมณฑล ไม่มีศาลจังหวัดตั้งซ้อนอยู่ด้วย ศาลมณฑลมีหน้าที่ชำระคดีที่เกินอำนาจของศาลจังหวัด และชำระความอุทธรณ์ที่เกิดขึ้นในมณฑลนั้น แต่เนื่องจากในมณฑลอยุธยา ศาลมณฑลมีคดีความมาก จึงจำเป็นต้องตั้งศาลจังหวัดขึ้นในจังหวัดที่ตั้งศาลมณฑล เพื่อแบ่งเบาภาระศาลมณฑลด้วย ภายหลังได้ประกาศแก้ไขอำนาจศาลมณฑลตัดการอุทธรณ์ในชั้นศาลมณฑลลงชั้นหนึ่งก่อน ลักษณะเช่นนี้ แม้ว่าชื่อศาลจะแยกเรียกเป็นศาลจังหวัดกับศาลมณฑล แต่ในส่วนการงานได้ทำรวมกันอยู่แล้วจึงได้มีการประกาศรวมศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาส่วนแพ่ง  ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาส่วนอาญา  เข้ารวมในศาลมณฑลอยุธยา เพื่อให้เป็นระเบียบเดียวกันกับศาลมณฑลอื่น ๆ นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2473

          สรุปได้ว่าก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ศาลสังกัดกระทรวงยุติธรรมแบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ

1.  ศาลสถิตยุติธรรมกรุงเทพ ฯ แบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ

                   ก.  ศาลฎีกา

                   ข.  ศาลอุทธรณ์

                   ค.  ศาลพระราชอาญา  ศาลแพ่ง  ศาลต่างประเทศ  ศาลคดีต่างประเทศ  และศาลโปริสภา

1.  ศาลชั้นต้น มีศาลแพ่ง ศาลอาญา  ศาลจังหวัด  ศาลแขวง  และศาลคดีเด็กและเยาวชน

2.  ศาลอุทธรณ์ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ฎีกาคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร

3.  ศาลฎีกา มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ฎีกาคำพิพากษาหรือ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ คำตัดสินถือเป็นที่สุด

ปัจจุบันก็ได้อาศัยหลักการนี้มาโดยตลอด รวมทั้งมีการจัดตั้งศาลชำนัญพิเศษเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม

          สำหรับอาคารศาลมณฑลกรุงเก่า ( มณฑลอยุธยา ) ซึ่งได้จัดสร้างขึ้นและเปิดใช้เป็นที่ทำการตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2453 บริเวณระหว่างพระราชวังจันทร์เกษม กับที่ว่าการหอทะเบียน ( ปัจจุบันอยู่ที่ถนน อู่ทอง  ตำบลหอรัตนไชย  อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ) ภายหลังได้มีการยกเลิกศาลมณฑล ให้ศาลมณฑลมีฐานะเป็นศาลจังหวัด ก็ได้ใช้เป็นที่ทำการตลอดมา ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2500 ได้จัดตั้งศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาขึ้น ได้แบ่งเอาอาคารบางส่วนเป็นที่ทำการศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาด้วย  ทำให้ห้องทำงานและห้องพิพากษาคดีไม่เพียงพอ  กระทรวงยุติธรรมจึงได้ของบประมาณสร้างอาคารศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขึ้นใหม่โดยใช้อาคารหลังเดิมเป็นที่ทำการศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา และได้รับเงินงบประมาณดำเนินการก่อสร้างเป็นเงิน 8,843,000 บาท ก่อสร้างเป็นอาคารตึก 2 ชั้น หลังคาทรงไทย ขนาด  13 บัลลังก์ ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารที่ทำการศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26  มีนาคม  2522  ซึ่งวันที่ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลมณฑลกรุงเก่า เมื่อ 82 ปีก่อน อันนับเป็นมหาศุภฤกษ์มงคลกาล